ชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยได้รับเชิญจาก นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการ สนง.ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ในพิธีเปิดนิทรรศการ ผลงานออกแบบในสาขามัณฑนศิลป์ ในโครงการ Young Interior Drsign ที่ คริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์ ถ.เลียบทางด่วน เอกมัย - รามอินทรา ในวันที่ 15 กย.54 ที่ผ่านมา
โดย สนง.ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมมือกับ สมาคมมัณฑนากร แห่งประเทศไทย อบรมเชิงปฏิบัติการออกแบบ เพิงอาหาร/เครื่องดื่ม ขนาดเล็ก และนำผลงานที่ได้รับรางวัลออกเผยแพร่ในงาน
ทั้งนี้ หลังจากชมรมฯได้เข้าร่วมงานแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์ ต่อสมาชิกและบุคคลทั่วไป เป็นอย่างยิ่ง ในการนำรูปแบบต่างๆไปปรับใช้พัฒนาการประกอปกิจการ โดยผู้สนใจรายละเอียดติดต่อได้ที่ ชมรมฯ โทร.083-9236725
ชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยร่วมสัมนา“key informant สาขาบริการ”
http://www.dsd.go.th/index.php/2011-04-27-03-22-46/1367-2011-06-13-09-30-41
กรมพัฒน์จัดประชุมเรื่อง “key informant สาขาบริการ”
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “Key informant สาขาบริการ” ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
นายนคร ศิลปอาชา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนจัดประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่อง “Key informant สาขาบริการ” ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากจัดงาน Megatrend in Human Capital and Labour Productivity towards Global Integration โดยได้บทสรุปว่าจะมีการพัฒนาโครงการด้านการสร้างผลิตภาพแรงงานอย่างเป็นระบบในระดับมหภาคใน 3 เสาหลักเศรษฐกิจ คือ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งจะเน้นตั้งแต่ Semi-Skilled, Skilled จนถึง Knowledge Workers เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานอย่างเป็นระบบ และยังเป็นการเตรียมความพร้อมการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC (ASEAN Economic Community--AEC) ในปี 2558 โดยเป็นหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่จะต้องพัฒนากลไกดังกล่าวให้มีศักยภาพ จึงได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจัดการประชุมระดมความคิดเห็นขึ้นใน 3 สาขาดังกล่าว
ซึ่งในส่วนของสาขาบริการนั้นที่ประชุมได้บทสรุปว่าหากเมื่อมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเกิดขึ้น แรงงานภายในประเทศด้านบริการ เช่น พนักงานโรงแรม มัคคุเทศก์ เป็นต้น จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากแรงงานที่มีศักยภาพจากภายนอก เช่น แรงงานพิลิปปินส์ สิงคโปร์ เป็นต้น พร้อมจะเข้ามาแย่งอาชีพของแรงงานภายในประเทศ ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะมีความรู้ความสามารถทางด้านภาษาและไอทีเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันแรงงานภายในประเทศกลับมีจุดอ่อน เช่น ความอดทนในการทำงาน และขาดประสบการณ์ เป็นต้น ฉะนั้นต้องรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเปิดโอกาสให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม เช่น จัดฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านแรงงานให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
ทั้งนี้ การประชุมจัดขึ้น ณ โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร โดยมีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 28 คน เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรม สมาคมภัตตาคารไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ชมรมฯได้นำเสนอข้อคิดเห็นในการสัมนาครั้งนี้ด้วย
ชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย
มุ่งพัฒนา รับฟังปัญหา และเป็นปากเสียงของสมาชิก
13 มิย. 2554
เรียน ท่าน ดร.เกษมณี อัษฎมงคล
เรื่อง ปัญหาและข้อคิดเห็นจากชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย ในการพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคบริการ
ตามที่ชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยได้รับเกียรติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเชิญเข้าร่วมระดมความคิดเห็นในหัวข้อ การพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคบริการ เมื่อวันที่ 6 มิย. 2554 นั้น
ชมรมฯได้รวบรวมข้อมูลจากสมาชิกโดยขอนำเสนอดังนี้
1.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ ในระดับพื้นฐานและระดับกลางบางส่วน
ในกิจการร้านอาหารรายย่อย ปัจจุบัน ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก
ในกิจการที่พักในเมืองท่องเที่ยว พบว่าขาดพนักงานที่มีทักษะทางด้านภาษา ไม่สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
ข้อเสนอแนะ
ภาครัฐต้องเร่งระดมสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้คนไทยสามารถทำงานในระดับพื้นฐานและระดับกลางให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาสังคมจากคนว่างงาน และ ปัญหาความมั่นคงจากการอาศัยแรงงานต่างด้าว
2.ปัญหาค่าแรงที่สูงขึ้น
ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจรายย่อย จนไม่อาจอยู่ได้ในสภาพการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน
ข้อเสนอแนะ
ภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนระบบสวัสดิการในการครองชีพให้แรงงาน เป็นการลดค่าใช้จ่ายของแรงงาน ทำให้ไม่จำเป็นต้องขอเพิ่มค่าแรงตลอดเวลา
และภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการลดต้นทุนของผู้ประกอปการ อาทิ ภาษี ระบบโลจิสติก ฯลฯ เพื่อให้ผู้ประกอปการ สามารถอยู่ได้ ทำให้ยังคงมีการจ้างงาน และจ่ายค่าแรงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
3.ปัญหาการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพ
ทำให้ผู้ประกอปการไม่สามารถพัฒนาธุรกิจได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น
ข้อเสนอแนะ
ภาครัฐต้องเร่งปรับปรุงระบบการศึกษาให้ทันโลก โดยเฉพาะภาคบริการของไทยซึ่งจะมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยแทนที่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งศูนย์เสียความสามารถทางการแข่งขันไปแล้ว
สุดท้ายนี้ ชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย หวังว่าข้อมูลจากชมรมฯจะเป็นประโยชน์ต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพราะการแข่งขันในโลกปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว
อนึ่งหากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือหน่วยงานอื่นใด ต้องการข้อมูลหรือจัดสัมนาอื่นๆ กรุณาติดต่อชมรมฯได้ตามที่อยู่ด้านล่าง
ขอแสดงความนับถือ
เศรษฐ์ หาญโรจนะ
ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมฯ
ท่านประธานการท่องเที่ยวและประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตอบรับความคิดเห็นของชมรมฯ
ตามที่ชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย ได้นำเสนอความคิดเห็นเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยดังนี้
ชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย
มุ่งพัฒนา รับฟังปัญหา และเป็นปากเสียงของสมาชิก
12 มีค. 2552
เรียน ท่านผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ/ท่านวีรศักดิ์ โค้วสุรัตน์ ประธาน ททท./ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย/บก.นิตยสาร อสท./คุณอ๊อดเทอร์โบ ไทยรัฐ
เรื่อง ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย
เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้เห็นโฆษณาของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ใน นสพ. ไทยรัฐ ประกาศลดค่าโดยสารระหว่างประเทศลงประมาณ 50% คือ ซื้อ 1 แถม 1 ราคาดังกล่าวรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สนามบินแล้ว
ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า ต้องเดินทางอย่างน้อย 2 คน และภายในเวลาที่กำหนด อาทิ กรุงเทพฯ – สิงคโปร์ ไป - กลับ คนละประมาณ 5,700 .- บาท
ครั้งแรกที่ผมเห็นโฆษณาของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์นี้ ในใจผมนึกอยากไปเที่ยวสิงคโปร์ทันที และเชื่อว่าจะมีคนไทยอีกจำนวนมากที่คิดเหมือนผม โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจอยู่แล้วจะตัดสินใจง่ายขึ้น
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงการจัดโปรโมชั่นของห้างซุปเปอร์สโตร์ต่างๆ ที่จัดรายการ ซื้อ 1 แถม 1 กันทั่วไป เพื่อดึงคนเข้าห้างฯ ผลที่ได้รับคือ ลูกค้าจะซื้อสินค้าอื่นที่ไม่ลดราคาไปด้วย อีกทั้งร้านค้าที่เช่าสถานที่ห้างฯ เช่น ร้านอาหาร ฯลฯ ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน เพราะคนมาซื้อของแล้วก็แวะทานอาหาร
เช่นกัน หากการบินไทย สามารถจัดโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 แบบนี้ จะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาไทยมากขึ้น นำรายได้เข้าสู่ประเทศเรา ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดังนั้น ผมจึงเสนอให้การท่องเที่ยวฯและการบินไทยร่วมมือจัดโปรโมชั่นแบบสิงคโปร์แอร์ไลน์เป็นเวลาสัก 2 ปี โดยจัดเฉพาะช่วงโลว์ซีซั่นก็ได้
อนึ่ง หากการบินไทยไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากปัญหาภายใน ผมขอแนะนำให้การท่องเที่ยวร่วมมือกับสายการบินอื่นๆ โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสท์ระดับนาๆชาติ
ทั้งนี้ผมเชื่อว่า วิธีนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งซึ่งให้ผลในทันทีสำหรับการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวมากกว่าการใช้งบประมาณไปกับการประชาสัมพันธ์ทั่วๆไป
ขอแสดงความนับถือ
เศรษฐ์ หาญโรจนะ
ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมร้านอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย
*****************
ทั้งนี้ คุณอ๊อดเทอร์โบ จากไทยรัฐ ได้นำเรื่องนี้ลงใน นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 มีค. 52
และล่าสุด ท่านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ปรธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ตอบรับความคิดเห็นของชมรมฯ ดังนี้
" ขอบคุณ ผมเห็นด้วยและกำลังประสานงานกับทั้งอุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่พัก ห้างสรรพสินค้า เพื่อดำเนินการร่วมกัน "
และท่านนายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ตอบรับความคิดเห็นของชมรมฯ เช่นกันดังนี้
" สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( สสท. ) ขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงที่ได้ร่วมให้ความเห็นแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งข้อเสนอนี้ สสท. จะได้นำบรรจุเข้าวาระการประชุมของ สสท. และนำส่งความเห็นดังกล่าวไปที่ บริษัท การบินไทย จำกัด ( มหาชน ) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป "
ชมรมฯขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจต่อความคิดเห็นของเรา ทั้งนี้ ชมรมฯจะยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและส่วนรวมต่อไปครับ